สมเด็จ​พระ​กนิษฐา​ธิราช​เจ้า​ กรม​สมเด็จพระ​เทพ​รัตน​ราชสุดา​ฯ​
สยาม​บรม​ราช​กุมารี​ เสด็จพระราชดำเนิน​ทรง​เปิด​พระรา​ชานุ​สาว​รีย์​
สมเด็จพระ​เทพศิ​ริน​ทรา​บรม​ราชินี​ และ​ทอดพระเนตร​
กิจ​กรรมการ​เ​รี​ยนการ​สอน ณ โรงเรียน​เทพศิ​รินทร์​ เชียงใหม่

พระราชประวัติ สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี

 
Thumb nail 

พระราชประวิติ สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี

            สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2377 ทรงเป็นพระธิดาพระองค์รองในสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ พระองค์เจ้าศิริวงศ์ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ต้นราชสกุลศิริวงศ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาทรัพย์ส่วนพระมารดาคือหม่อมน้อย ศิริวงศ์ ณ อยุธยาสตรีชาวบางเขนที่มีเชื้อสายอำมาตย์รามัญกับไทย เป็นธิดาคนหนึ่งของนายบุศย์ ชาวบางเขนซึ่งไม่ปรากฏวงศ์ตระกูล กับคุณแจ่มหลานสาวของอำมาตย์มอญ คือ พระยารัตนจักร (หงส์ทอง สุรคุปต์) (สมิงสอดเบา หัวเมืองหน้าครัวมอญ) คุณม่วงมารดาของคุณแจ่มเป็นน้องสาวต่างมารดาของเจ้าจอมมารดาป้อม ในรัชกาลที่ 1, เจ้าจอมเพ็ง ในรัชกาลที่ 2 และเจ้าจอมมารดาเอม ในรัชกาลที่ 2บางแหล่งข้อมูลก็ว่า คุณแจ่ม เป็นธิดาของพระยารัตนจักร พระองค์มีพระพี่น้องต่างพระมารดา รวม 8 พระองค์ เมื่อพระองค์อยู่ในช่วงวัยเยาว์ ได้เข้ามาอยู่กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าละม่อม กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร พระปิตุจฉา เพื่อเข้ามาฝึกหัดการถวายงานพัด และพระองค์ก็สามารถพัดได้ถูกพระทัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงกับโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามแก่หม่อมเจ้าหญิงนี้ว่า รำเพย อันมีความหมายว่า "ลมเย็นที่พัดค่อย ๆ อ่อน ๆ" มีเรื่องเล่ากันว่าพระภิกษุพระศรีสุทธิวงศ์ ได้ไปยังเกาะลังกา และในขากลับได้นำเอาต้นไม้ชนิดหนึ่งเข้าถวายแก่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงโปรดไม้นั้นมาก จึงได้พระราชทานชื่อไม้นั้นว่า รำเพย ตามพระนามของพระเจ้าหลานเธอ หม่อมเจ้ารำเพย ศิริวงศ์ เริ่มรับราชการในตำแหน่งพระมเหสีของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2396 ตั้งแต่พระชนมายุได้ 18 พรรษา ทรงได้รับการสถาปนาเลื่อนพระยศเป็น พระองค์เจ้า พระราชทานพระนามว่า รำเพยภมราภิรมย์ อันมีความหมายว่า "บุปผชาติที่เป็นที่ยินดีและเป็นที่พักพิงของมวลหมู่ภมร"  และดำรงพระอิสริยยศเป็น พระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ เมื่อ พ.ศ. 2395  ต่อมาได้รับการเฉลิมพระนามเป็น สมเด็จพระนางเจ้ารำเพยภมราภิรมย์ เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อวันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2404 สิริรวมพระชนมายุได้ 28 พรรษา ในรัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนาพระบรมอัฐิเป็น กรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์  และในรัชกาลที่ 6 ทรงสถาปนาพระบรมอัฐิเป็น สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี

พระราชบุตร

          สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ทรงมีพระราชโอรส-ธิดาทั้งหมด 4 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระนามเดิม สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์, 20 กันยายน พ.ศ. 2396 - 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453) ได้สืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา มีพระอัครมเหสี คือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ มีพระมเหสี, เจ้าจอมมารดาและเจ้าจอมรวม 151 ท่าน มีพระราชบุตรรวม 77 พระองค์  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์ (พระนามเดิม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี, 24 เมษายน พ.ศ. 2398 - 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2406) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ (พระนามเดิม สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี, 13 มกราคม พ.ศ. 2399 - 11 เมษายน พ.ศ. 2443) ต้นราชสกุลจักรพันธุ์ มีหม่อม 9 ท่าน และมีพระโอรส-ธิดา 14 พระองค์ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช (พระนามเดิม สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์, 11 มกราคม พ.ศ. 2402 - 13 มิถุนายน พ.ศ. 2471) ต้นราชสกุลภาณุพันธุ์ มีหม่อม 5 ท่าน และมีพระโอรส-ธิดา 14 พระองค์
 

พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ทรงฉายพระราชทานเป็นบรรณาการแก่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2399ปัจจุบันเก็บรักษาที่สถาบันสมิธโซเนียนสหรัฐอเมริกา
การประชวรและการสวรรคต
 
          นับตั้งแต่พระราชโอรสองค์เล็กประสูติ พระองค์ก็ทรงประชวรมากแต่ก็ทรงตรัสว่า "ไม่เป็นอะไรมากหรอก" แม้จะทรงกาสะ (ไอ) มากก็ตาม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาเกี่ยวกับพระอาการประชวรของพระองค์ไว้ดังนี้  “…แต่แม่รำเพย ตั้งแต่คลอดบุตรชายภาณุรังษีสว่างวงศ์มาแล้ว ป่วยให้ไอและซูบผอมมากไป กลัวจะตั้งวัณโรคภายใน”  อีกฉบับหนึ่ง ทรงบรรยายถึงการสิ้นพระชนม์ไว้อย่างละเอียดดังนี้  “…เวลาเช้าแม่รำเพยไออาเจียนเป็นโลหิตออกมามาก ออกทางจมูกออกทางปาก ได้ตัวสัตว์ออกมากับทั้งโลหิตตัวหนึ่ง มีอาการคล้ายสัตว์ตัวหนอนเล็กหางเป็นสามแฉก แต่หมอยังแก้ไขก็ค่อยคลายมา โลหิตออกบ้างเล็กน้อยจางไปแล้ว"  “ครั้น ณ วันอาทิตย์ขึ้น 4 ค่ำ เดือนสิบ เวลากลางคืน เธอว่าค่อยสบายไอห่างไป นอนหลับได้มาก ตั้งแต่สามยามไปจนถึงสามโมงเช้า ครั้น ณ วันจันทร์ ขึ้นห้าค่ำ เดือนสิบ ตื่นขึ้นอีกเวลาสามโมงเช้า รับประทานอาหารได้ถ้วยฝาขนาดใหญ่ แล้วนั่งเล่นอยู่กับบุตรเล็ก ไอเป็นโลหิตออกมา แล้วก็เป็นโลหิตพลุ่งพล่านมากเป็นที่สุด ออกทั้งทางจมูกทางปาก หลายถ้วยแก้วกระบอก ไม่มีขณะหายใจ พอโลหิตมากแล้วชีพจรทั้งตัวก็หยุดทีเดียวไม่ฟื้นเลย ได้รับประทานจัดการไว้ศพ ในโกศตั้งไว้ที่ตึกต้นสน แต่ตกแต่งตึกเสียใหม่ให้งามดี เพดานและบานประตู บานหน้าต่างปิดลายเงิน ฝาผนังปิดกระดาษลาย และตกแต่งสิ่งอื่นมากพอสมควร ครั้นจะยกขึ้นไปไว้บนพระมหาปราสาท เห็นว่าจะกีดขวางการพระราชพิธีไม่พอที่ แต่เท่านั้นก็ดีอยู่แล้ว ศพจะเอาไว้นาน ต่อเดือนสี่เดือนห้าจึงจะได้เผา เดี๋ยวนี้ก็รับประทานทำบุญต่างๆ มีเทศนาและบังสุกุลอยู่เนืองๆ…ที่ให้เป็นอนุเคราะห์แก่ชายจุฬาลงกรณ์ หญิงจันทรมณฑล ชายจุตุรนตรัศมี ชายภาณุรักษีสว่างวงศ์ บุตรแม่เพยทั้งสี่ก็มีบ้าง กระหม่อมฉันคิดขอบบุญขอบคุณท่านทั้งปวงครั้งนี้นั้นหนักหนา แม่เพยตายลงครั้งนี้ เมื่อดูอาการก็ควรจะตายอยู่แล้ว ด้วยป่วยโรคนี้มาตั้งแต่เสาะแสะมาถึงห้าปี ตั้งแต่ปีมะเส็งมารักษาก็หลายหมอหลายยาแล้ว ไม่หาย จึงเห็นว่าถึงคราวที่จะสิ้นอายุตายอยู่แล้ว"  “อายุนับปี เท่ากับกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์บิดานั้น เหมือนกับชายมงคลเลิศซึ่งเป็นพี่ชายว่าโดยละเอียดไป กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ มีอายุนับวันตั้งแต่วันเกิดจนวันตายได้ 9,639 วัน ชายมงคลเลิศนับอายุตั้งแต่วันเกิดจนวันตาย 9,903 วัน มากกว่ากรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ 284 วัน มากกว่าชายมงคลเลิศ 20 วัน”  หลังจากการเสด็จสวรรคต ได้มีการจัดงานพระราชพิธีพระราชทานพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในวันศุกร์ที่ 18 เมษายน พุทธศักราช 2405 (วันแรม 4 ค่ำ เดือน 5)โดยพระราชพิธีนี้ ได้มีการริเริ่มการจัดพิธีกงเต็กหลวงขึ้นครั้งแรก จึงมีการจัดพิธีกงเต็กหลวงสืบมา
 
พระอนุสรณ์
 
วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร
          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อ พ.ศ. 2419 องค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมายุครบ 25 ชันษาพอดี พระองค์จึงโปรดฯ ให้สถาปนา วัด เทพศิรินทราวาส ขึ้น เพื่อทรงเฉลิมพระเกียรติ และ ทรงอุทิศพระราชกุศลสนองพระเดชพระคุณแห่งองค์สมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ซึ่งได้สิ้นพระชนม์ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ยังทรงพระเยาว์
โรงเรียนเทพศิรินทร์
          โรงเรียนเทพศิรินทร์ ได้รับการสถาปนาจาก องค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2428 ในช่วงแรกของการจัดตั้งโรงเรียนนั้น โรงเรียนเทพศิรินทร์ได้อาศัยศาลาการเปรียญภายในวัดเทพศิรินทราวาสเป็นที่ทำการเรียนการสอน พ.ศ. 2438 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ได้ทรงดำริที่จะสร้างตึกเรียนสำหรับวัดเทพศิรินทราวาสขึ้น เพื่ออุทิศพระกุศล สนองพระเดชพระคุณแห่งองค์ สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระชนนี และเพื่ออุทิศพระกุศลแก่ หม่อมแม้น ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา ชายาของพระองค์ ตึกเรียนหลังแรกนี้ได้รับการออกแบบให้มีศิลปะเป็นแบบโกธิคซึ่งถือว่าเป็นอาคารศิลปะโกธิคยุคแรกและมีที่เดียวในประเทศไทยโดยสมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอเจ้าฟ้านริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้ออกแบบ และในการนี้ พระยาโชฏึกราชเศรษฐี ได้บริจาคทุนทรัพย์เพื่อสร้างตึกอาคารเรียนขึ้นด้านข้างของตึกเรียนหลังแรกอีกด้วย

 

 
 
 
โรงเรียนเทพศิรินทร์ เชียงใหม่
248 หมู่2 ตำบลน้ำบ่อหลวง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ 50120
โทร. 052-000185
โทรสาร. 052-000185
เว็บไซต์. school@dsc.ac.th
Copyright © 2012. Debsirin Chiang Mai School. Allright reserved.